* ภาพประกอบจาก Pantip.com |
คงไม่มีใครปฏิเสธว่าอาหารเช้านั้นไม่สำคัญ ไม่ใช่เพียงช่วยให้เราอิ่มหลังจากที่ท้องว่างมาตลอดทั้งคืนที่เรานอน ล่าสุดมีงานวิจัยจากต่างประเทศที่บอกว่าอาหารเช้านั้นช่วยให้เด็กมีผลการเรียนที่ดีขึ้นอีกด้วย
วิถีชีวิตของคนกรุงเทพนั้นอยู่บนความรีบเร่งตลอดเวลา เด็กบางคนต้องทานอาหารเช้าบนรถ บางคนได้แซนด์วิชสักชิ้นก็ยังดี บางคนแค่นมกล่องเดียวก็คิดว่าพอแล้ว
ผมสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนโรงเรียนผมในตอนเช้า มีเพียงไม่ถึง 30% โดยประมาณที่มาทานอาหารเช้าที่โรงอาหาร และใน 30% นั้น กว่า 1 ใน 3 ทานเพียงแค่ขนมปังปิ้ง แซนด์วิช ข้าวปั้นสาหร่าย หรืออาจเพียงแค่นมสักกล่อง
คำว่าอาหารเช้าในทางโภชนศาสตร์นั้นหมายถึงอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ เพราะฉะนั้น การทางแซนด์วิช หรือข้าวเหนียวหมูปิ้ง ซึ่งเป็นอาหารเช้ายอดนิยมของเด็กๆ หลายคนนั้นไม่ถูกต้องเลย เรียกว่าเหมือนทานขนมเล่นๆ ไม่ได้ทานอาหารเช้าจริงๆ
มีการศึกษากว่า 21 งาน ในช่วงปี ค.ศ. 1996 - 2013 เกี่ยวกับผลของอาหารเช้าที่มีต่อการพัฒนาความคิดและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กๆ ผลการศึกษาส่วนใหญ่เป็นไปในทางเดียวกัน งานวิจัย 3 ชิ้น เห็นผลชัดเจนต่อพัฒนาการด้านผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และทักษะการคิดคำนวณ และมี 4 งานวิจัย กล่าวว่าทักษะการคิดคำนวณของนักเรียนนั้น สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (significantly higher)
การศึกษาส่วนใหญ่คือการลงไปควบคุมโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนโดยดูแลการรับประทานอาหารเช้าของเด็กให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ ตัวแปรตามของการศึกษาคือเกรดจากการเรียนและคะแนนการทดสอบมาตรฐานที่นักเรียนต้องเข้ารับ
ผลการศึกษาจะเห็นชัดเจนและมีความสอดคล้องกันยิ่งขึ้นในนักเรียนกลุ่มที่ไม่ได้รับการดูแลจากผู้ปกครองในเรื่องอาหารเท่าไรนัก และจะเห็นผลมากในเด็กอายุไม่ถึง 13 ปี
สำหรับผมเองนั้น ได้เริ่มรับประทานอาหารเช้าอย่างจริงจังก็ตอนที่มาศึกษาในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ ด้วยเหตุผลคือรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในกรุงเทพนั้นต้องใช้พลังงานจำนวนมาก ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นวันที่ยุ่งเพียงใด ผมจะต้องหาเวลาในการทานอาหารเช้าให้ได้เสมอ
เรารับประทานอาหารเย็นกันประมาณ 6 โมง ถึง 1 ทุ่ม สำหรับเด็กนักเรียนแล้ว หากไม่ได้ทานอาหารเช้า กว่า 13 ชั่วโมง ที่ไม่มีอาหารตกถึงท้องเลย ก็ต้องเข้าเรียนคาบที่ 1 เด็กหลายคนตื่นสาย มาโรงเรียนสาย และไม่ได้ทานอาหารเช้า ถึงแม้จะสามารถทนได้เพราะความเคยชิน แต่ผลกระทบต่อสมองนั้นไม่ดีแน่นอน
ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่พยายามผลักดันให้มีการจัดการร้านอาหารบริเวณโรงเรียนให้เป็นไปอย่างถูกสุขลักษณะและมีประโยชน์ต่อนักเรียน ผมคิดว่าโรงเรียนเองก็เช่นกัน ต้องหันมารณรงค์โภชนาการของนักเรียนไม่ว่าจะอาหารเช้าหรือมื้อใดก็ตาม แล้วผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนจะดีขึ้นแน่นอนครับ
สำหรับงานวิจัย อ่านฉบับเต็มได้ที่ -> http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3737458/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น